ภาวะออฟฟิศซินโดรม
(
OFFICE SYNDROME)

เนื่องจากรูปแบบของการทำงานในปัจจุบัน มักผูกติดอยู่กับโต๊ะทำงาน หรือหน้าจอคอมพิวเตอร์ตลอดเวลาเป็นส่วนใหญ่ ส่งผลให้คนจำนวนไม่น้อยที่ทำงานในรูปแบบนี้ มักประสบปัญหาอาการปวดเมื่อยตามร่างกายส่วนต่างๆขึ้นได้ ซึ่งอาการเหล่านี้ล้วนเกิดจากพฤติกรรมและสิ่งแวดล้อมที่ทำงานไม่เหมาะสม ที่เรียกว่า ออฟฟิศซินโดรม (Office syndrome)” นั้นเอง
            Office Syndrome มักเกิดจากการนั่งทำงานติดต่อกันเป็นเวลานาน โดยมีการเคลื่อนไหวร่างกายน้อยมากหรือไม่มีเลย รวมทั้งลักษณะท่าทางในการนั่งทำงาน และการจัดสิ่งแวดล้อมของสำนักงานรอบๆตัวของแต่ละบุคคล สิ่งต่างๆเหล่านี้ส่งผลให้เกิดอาการกล้ามเนื้ออักเสบ และปวดเมื่อยตามส่วนต่างๆของร่างกาย เช่น คอ บ่า ไหล่ หลัง และแขนได้ นอกจากนี้สำหรับผู้ที่ใช้แป้นพิมพ์ หรือเมาส์ซ้ำๆติดต่อกันนานๆ ยังมีโอกาสเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการอักเสบบริเวณเอ็นข้อมือ และการก่อตัวของพังผืดที่หนาจนกดทับเส้นประสาท ทำให้เกิดอาการชาบริเวณข้อมือ และนิ้วตามมาด้วย

Office Syndrome มี 2 ลักษณะ คือ การบาดเจ็บแบบเฉียบพลัน และการบาดเจ็บแบบสะสม
การบาดเจ็บเฉียบพลัน คือการที่เนื้อเยื่อ เอ็น กล้ามเนื้อ มีการเกร็งตัว หรือถูกยืดในท่าเดิมนานๆ หรือเส้นประสาทถูกกด ทำให้เกิดการบาดเจ็บแบบเฉียบพลัน เช่น การก้มทำงานจนคอเคล็ด เป็นต้น การบาดเจ็บแบบนี้จะมีอาการปวด บวม แดง ร้อน แสดงออกมา นั่นคือการอักเสบ และเจ็บเวลาสัมผัส หรือขยับเขยื้อนบริเวณที่เป็น ซึ่งการรักษากลุ่มอาการนี้จะต้องลดการอักเสบ โดยการประคบเย็น พยายามหยุดการใช้งานของส่วนนั้น
ส่วนการบาดเจ็บแบบสะสม เกิดจากการทำงานในท่าหนึ่งนานๆ หรือทำกิจกรรมใดซ้ำๆ กัน เช่น พิมพ์ดีดซ้ำๆ นั่งจ้องมองคอมพิวเตอร์ซ้ำๆ ซึ่งการทำแบบนี้ทำให้กล้ามเนื้อทำงานคงค้างอยู่นาน หรือถูกยืดอยู่นาน แต่ไม่มีการบาดเจ็บแบบทันทีทันใด การบาดเจ็บแบบสะสมจะแบ่งเป็น 3 ระยะ โดยระยะที่ 1 จะเริ่มมีอาการหลังจากทำงานสักพัก เช่น เช้าไม่มีอาการ แต่ช่วงใกล้เที่ยงถึงช่วงเย็นมีอาการมากขึ้น แต่กลับบ้านนอนพักก็หาย ไม่มีอาการคงค้างใดๆ ระยะที่ 2 เริ่มมีอาการหลงเหลือ แม้กลับไปพักแล้ว โดยเฉพาะช่วงทำงานหนัก จะมีอาการตึงๆ เจ็บๆ เล็กน้อย ส่วนระยะที่ 3 จะมีอาการเหมือนระยะที่ 2 แต่รุนแรงกว่า

สำหรับการป้องกันภาวะ Office Syndrome นอกเหนือจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และสิ่งแวดล้อม แล้ว ยังควรให้ความสำคัญกับการบริหารร่างกาย โดยอาจสละเวลาจากการทำงานเพียงเล็กน้อยสัก 3 - 5 นาที ด้วยการออกกำลัง และยืดเหยียดกล้ามเนื้อ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรง และความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ เพียงเท่านี้ร่างกายก็สามารถห่างไกลจาก Office Syndrome ได้อย่างแน่นอน


คลิกอ่านเลย >>> 6 ท่าง่ายๆหายจากโรคออฟฟิศซินโดรม

แหล่งข้อมูล
http://main.library.tu.ac.th/km/?p=16236
http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9560000021484

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้